ขั้นตอนการปฏิบัติงาน การป้องกันและกำจัดหนู
การสำรวจร่องรอยหนู มีความสำคัญและจำเป็นต่อการป้องกันและกำจัดหนูเพราะช่วยให้ทราบว่ามีหนูอยู่บริเวณนั้นหรือไม่ มากน้อยเพียงใด และเป็นชนิดใด ร่องรอยหนูที่สำรวจพบร่วมกับการพิจารณาจากปัจจัยแวดล้อมต่างๆ จะเป็นตัวบ่งบอกถึงแหล่งที่อยู่อาศัย ทางเข้า-ออก และเส้นทางหาอาหาร ของหนูในพื้นที่นั้นๆ
1. รอยกัดแทะ
2. โพรงหรือรูหนู
3. รอยทางเดิน
4. มูลหนู
5. ลักษณะอื่นๆ ที่อาจเป็นร่องรอยบอกว่ามีหนูอยู่ในบริเวณนั้นหรือไม่ ได้แก่ เสียงร้อง เสียงวิ่ง กลิ่นสาบ ซากหนู รอยเท้าหนู เป็นต้น
การป้องกันกำจัดหนู ต้องดำเนินการไม่ให้มีหนูหรือมีหนูเหลือจำนวนน้อยที่สุดตามเป้าหมาย ซึ่งวิธีการควบคุมกำจัดหนูนั้น มีหลายวิธีด้วยกัน แต่ละวิธีมีข้อดีข้อเสียที่ได้ผลจะมีหลายวิธีตามความเหมาะสมของสถานที่นั้นๆ ควรได้รับความร่วมมือจากผู้ที่รับผิดชอบของสถานที่ เช่น ด้านสุขอนามัย สภาพแวดล้อม หรือช่องทางเข้าออกของหนูนั้น การกำจัดหนูจะดำเนินการใช้การป้องกันกำจัดหนูตามความเหมาะสมได้ ซึ่งแบ่งการป้องกันกำจัดหนูเป็น 3 วิธี ดังนี้
วิธีที่ 1 แนวกำแพงรอบพื้นที่ ใช้การวางเหยื่อพิษ หรือการวางกรง เพื่อตรวจสอบการระบาดของหนู
วิธีที่ 2 พื้นที่ภายนอกอาคารและแนวรอบอาคาร ใช้การวางเหยื่อพิษหรือการวางกรง
วิธีที่ 3 พื้นที่ภายในอาคาร ใช้การวางกระดานกาวและกรง
1. การวางเหยื่อพิษ
*** สิ่งที่ควรคำนึงถึงก่อนการปฏิบัติงาน***
1.1 การกำหนดตำแหน่งวางเหยื่อพิษ พิจารณาจากแผนผังบริเวณสถานที่ทำบริการตลอดจนแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งอาหารเส้นทางหาอาหาร และทางเข้า-ออก ของหนู เป็นต้น
1.2 ตำแหน่งของการวางเหยื่อพิษ จะต้องอยู่ภายนอกอาคาร รอบอาคารหรือบริเวณแนวกำแพงโดยรอบ และจะต้องไม่อยู่ในบริเวณผลิตอาหาร โกดังเก็บสินค้าหรือวัตถุดิบที่เกี่ยวข้องกับอาหารหรือบริเวณอื่นๆซึ่งอาจทำให้เกิดการปนเปื้อนกับสินค้า
1.3 ตำแหน่งการวางเหยื่อพิษ กำหนดระยะห่างประมาณ 10 – 30 เมตร ต่อจุดหรือพิจารณาตามความเหมาะสมของสถานที่
1.4 การติดตั้งอุปกรณ์วางเหยื่อพิษให้ช่องทางเข้ามีทิศขนานกับผนัง และวางให้ชิดกับผนัง
1.5 การวางเหยื่อพิษจะต้องวางในอุปกรณ์การวางเหยื่อพิษเท่านั้น
1.6 การวางกล่องวางเหยื่อพิษทุกจุดจะต้องมีหมายเลขกำกับอยู่ และระบุหมายเลขกล่องวางเหยื่อพิษ บริเวณผนังที่มีการติดตั้งกล่องวางเหยื่อพิษนั้น ๆ
1.7 กรณีที่วางเหยื่อพิษบริเวณนอกตัวอาคารโดยรอบ ระยะของกล่องวางเหยื่อพิษต้องห่างจาก ตัวอาคาร
ไม่เกิน 15 เมตร ยกเว้นในบริเวณที่เป็นทางสาธารณะ เช่น ที่จอดรถ หรือทางเดิน อาจไม่จำเป็นต้องมีการวางกล่องวางเหยื่อพิษ
1.8 กล่องวางเหยื่อพิษจะต้องมีการปิดล็อคฝาทุกกล่อง
*** การยึดปิดฝากล่องวางเหยื่อพิษ***
1. เจาะด้านข้างกล่องฯ จำนวน 2 รู ซ้ายขวา โดยให้แต่ละรูปห่างจากขอบด้านข้าง 5 เซนติเมตร
2. เจาะฝาด้านบนกล่อง บริเวณขอบด้านข้าง จำนวน 2 รู ซ้ายขวา โดยให้แต่ละรูปห่างจากขอบด้านข้าง 5 เซนติเมตร
***การติดตั้งกล่องวางเหยื่อพิษ***
การติดตั้งกล่องเหยื่อพิษกำจัดหนู จะต้องมีการยึดกล่องเพื่อมิให้สามารถเคลื่อนย้ายได้โดยง่าย ซึ่งมี 2 วิธี ดังนี้
การยึดกล่องวางเหยื่อพิษกับพื้นคอนกรีต
1. วางกล่องเหยื่อพิษตามตำแหน่งที่กำหนด โดยให้ด้านที่มีช่องทางเข้า-ออก ด้านข้างกล่องอยู่ชิดกับผนัง
2. ใช้สว่านเจาะผ่านพื้นกล่องจนทะลุถึงพื้นคอนกรีต จำนวน 2 ตำแหน่ง (ซ้าย-ขวา)
3. ยึดกล่องไว้กับพื้นด้วยน๊อตพร้อมแหวนรองน๊อต
4. ปิดฝากล่อง แล้วคล้องห่วงบนฝากล่องด้วยสายรัดหรือวัสดุอื่นๆ ตามความเหมาะสม
5. ติดสติกเกอร์แสดงสัญลักษณ์อันตราย บนฝากล่องด้านซ้ายบน พร้อมทั้งลงหมายเลขกำกับกล่องให้ชัดเจน
6. ติดป้ายแสดงตำแหน่งการวางเหยื่อพิษกำจัดหนู บนผนังหรือบริเวณดังกล่าวให้ตรงกับหมายเลขประจำกล่องในตำแหน่งดังกล่าว
การยึดกล่องวางเหยื่อพิษกับแท่นซีเมนต์
1. หล่อแท่นซีเมนต์ขนาด กว้าง 15 X ยาว 30 X สูง 5 เซนติเมตร
2. ทิ้งให้ซีเมนต์เซ็ทตัวประมาณ 2 ชั่วโมง
3. วางกล่องเหยื่อพิษเจาะรูใต้กล่อง 2 ตำแหน่ง (ซ้าย-ขวา)
4. นำกล่องพลาสติกที่เจาะรูเรียบร้อยแล้ว มาวางบนแท่นซีเมนต์ที่เตรียมไว้
5. ยึดกล่องพลาสติกและแท่งซีเมนต์อีกครั้งด้วยน๊อตพร้อมแหวนรองน๊อต ลงในช่องที่เจาะไว้
6. รอให้แท่นซีเมนต์แห้ง และยึดติดกับกล่องดีแล้ว
7. วางกล่องเหยื่อพิษที่ยึดแท่งซีเมนต์เรียบร้อยแล้ว ไปวางตามตำแหน่งที่กำหนด โดยให้ด้านที่มีช่องทางเข้า-ออก ด้านข้างกล่อง
อยู่ชิดกับผนัง
8. ปิดฝากล่อง แล้วคล้องห่วงบนฝากล่องด้วยสายล็อคหรือวัสดุอื่นๆ ตามความเหมาะสม
9. ติดสติกเกอร์แสดงสัญลักษณ์อันตราย บนฝากล่องด้านซ้ายบน พร้อมทั้งลงหมายเลขประจำกล่องให้ชัดเจน
10. ติดป้ายแสดงตำแหน่งการวางเหยื่อพิษกำจัดหนูบนผนังหรือบริเวณดังกล่าวให้ตรงกับหมายเลขกำกับกล่องในตำแหน่งดังกล่าว
หมายเหตุ : กรณีที่ลูกค้าระบุให้ใช้อุปกรณ์อื่นๆ สำหรับวางเหยื่อพิษให้พิจารณาตามความเหมาะสม
ขั้นตอนการปฏิบัติงาน
1. กำหนดตำแหน่งการวางกล่องเหยื่อพิษลงในแผนผังหลังการสำรวจพื้นที่ (rodent bait station layout)
2. ระบุหมายเลขกำกับตำแหน่งการวางเหยื่อพิษแต่ละตำแหน่ง และบันทึกตำแหน่งหมายเลขที่กำหนดลงในแผนผัง
3. จัดส่งแผนผังแสดงตำแหน่งการวางกล่องเหยื่อพิษ พร้อมระบุ วันที่ และผู้จัดทำ ให้ลูกค้าที่รับบริการพิจารณาพร้อมทั้งลงนามรับทราบ
4. ทำการติดตั้งอุปกรณ์วางเหยื่อพิษตามจุดที่กำหนด
5. วางเหยื่อพิษลงในช่องใส่เหยื่อพิษภายในกล่องเหยื่อพิษ
6. นำสายรัดหรือห่วงมาร้อยตามรูที่เจาะไว้ที่ฝาและตัวกล่อง เพื่อให้ยึดติดกัน
7. ตัดปลายสายล็อคที่เกินออก เพื่อความเรียบร้อยและสวยงาม
1. การวางเหยื่อพิษ
1.1 การวางเหยื่อพิษเริ่มต้นให้วาง 3 ซอง/ก้อน ต่อจุด
1.2 หากกรณีที่พบว่ามีการระบาดของหนูในบริเวณใดมาก สามารถเพิ่มการวางเหยื่อพิษได้ตาม ความเหมาะสม
1.3 เหยื่อพิษที่ใช้จะต้องมีการสลับเปลี่ยนชนิดทุก 3 เดือน
หมายเหตุ : ภายในโรงงานผลิตอาหาร ห้ามมิให้ใช้เหยื่อพิษเด็ดขาด
: กรณีที่พบปากทางเข้ารูหนู เส้นทางเดินของหนู ภายนอกอาคาร อาจพิจารณาใช้เหยื่อพิษสำเร็จรูปโรยใน
บริเวณดังกล่าว
: หากพบซากหนู จะต้องเก็บซาก และฉีดน้ำยาดับกลิ่น
2. การตรวจสอบการวางเหยื่อพิษ
2.1 เปิดฝากล่องวางเหยื่อพิษ โดยการตัดสายล็อคด้านหน้าออก
2.2 ตรวจสอบความสมบูรณ์ของกล่องวางเหยื่อพิษ หากชำรุดให้เปลี่ยนใหม่
2.3 ทำความสะอาดกล่องวางเหยื่อพิษ โดยการใช้แปรงทำความสะอาด และผ้าชุบน้ำหมาดๆ เช็ด ทั้งภายในและภายนอก
รวมทั้งวัชพืชที่ขึ้นอยู่บริเวณกล่องเหยื่อพิษ
2.4 หากพบเหยื่อถูกกัดแทะ มีฝุ่นเกาะเป็นจำนวนมาก หรือหมดสภาพ เช่น เปียก หรือ ขึ้นราให้ทำการเปลี่ยนเหยื่อ
2.5 ปิดฝาอุปกรณ์วางเหยื่อพิษ พร้อมคล้องสายล็อค และตัดปลายสายล็อคส่วนที่เกินออก
การวางกรงดักหนู
สิ่งที่ควรคำนึงถึงในการใช้กรงดักหนู คือ
1. การใช้กรงดักมากจุดให้ผลดีกว่าการใช้น้อยจุดในแต่ละครั้งที่ทำการวางดัก
2. อาหารที่ใช้ล่อควรเปลี่ยนชนิดทุกครั้ง และเลือกให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่
3. หลังการใช้งาน ต้องล้างทำความสะอาด แล้วตากให้แห้ง
4. การวางกรงไม่ควรวางต่อเนื่องติดต่อกันเกิน 1 สัปดาห์
5. หากพบว่ามีหนูอยู่ในพื้นที่ แต่การวางกรงไม่สามารถดักจับหนูได้ ให้ปรับเปลี่ยนวิธีการวาง เช่น ใช้สิ่งของปิดหรือปกคลุม กรงไว้หรือใช้ภาชนะครอบปิดกรง ให้เหลือเพียงช่องทางเข้าออกของหนูเท่านั้น
ขั้นตอนการวางกรงดักหนู
3.1 วางกรงในบริเวณที่หนูมาหาอาหาร ทางเดินของหนู โดยวางชิดกับผนัง หรือวางซ่อนตามกองอาหาร
3.2 แขวนเหยื่อหรืออาหารล่อไว้ภายในกรง
3.3 ทดสอบการตีปิดของกรง
3.4 วาดแผนผังอย่างง่ายๆ ระบุตำแหน่งที่วางลงในแผนผังทุกครั้ง
การตรวจสอบกรงดักหนู
3.5 ตรวจสอบว่ามีหนูติดกรงหรือไม่ หากมีเป็นหนูชนิดใด จำนวนกี่ตัว แล้วนำไปทำลาย
3.6 หากไม่พบหนูติดกรงให้เปลี่ยนเหยื่อใหม่ทุกครั้งที่เข้าทำบริการและควรเปลี่ยนชนิดของเหยื่อล่ออยู่เสมอ
การวางกระดานกาว
สิ่งที่ควรคำนึงถึงในการวางกระดานกาว
1. การวางกระดาน ใช้เพื่อกำจัดหนูภายในอาคาร และเพื่อตรวจสอบปัญหาหนูภายในอาคาร
2. ห้ามใช้เหยื่อพิษวางเป็นเหยื่อล่อในกระดานกาวโดยเด็ดขาด
3. การวางกระดานควรจะวางภายในอาคาร ในพื้นที่ที่พบร่องรอยของหนู บริเวณชิดผนัง ใต้ชั้นวางอุปกรณ์หรืออาหาร รวมทั้งบนฝ้าเพดาน
4. ไม่ควรวางกระดานกาวในพื้นที่ที่มีน้ำขัง เพราะจะทำให้การวางไม่ได้ผล
5. ระยะห่างวางกระดานกาว ให้พิจารณาจากชนิดของหนู และแต่ละจุดตามความเหมาะสมของสถานที่
6. หากพบว่ามีหนูอยู่ในพื้นที่ แต่การวางกระดานกาวไม่สามารถดักจับหนูได้ ให้ปรับเปลี่ยนวิธีการวาง เช่น ใช้สิ่งของปิดหรือปกคลุมกระดานกาวไว้ หรือ ใช้กล่องกระดานหรือภาชนะครอบปิดกระดานไว้ ให้เหลือเพียงช่องทางเข้าออกของหนูเท่านั้น
7. ในกรณีที่พบหนูติดกระดานกาว ให้ทำการเปลี่ยนกระดานกาวใหม่แล้วนำกระดานกาวที่มีหนูติดไปทำลายหรือพิจารณาตามดุลพินิจ
ขั้นตอนการวางกระดานกาว
1. กำหนดตำแหน่งการวางกระดานกาว ตามบริเวณที่พบปัญหา
2. วางกระดานพร้อมอาหารล่อในบริเวณที่กำหนด
3. วาดแผนผังอย่างง่ายๆ ระบุตำแหน่งที่วางลงในแผนผังทุกครั้ง
การตรวจสอบกระดานกาว
1. ตรวจสอบว่ามีหนูติดกระดานกาวหรือไม่ หากมีเป็นหนูชนิดใด จำนวนกี่ตัว แล้วนำกระดานกาวที่มีหนูติดไปทำลาย
2. หากไม่พบหนูติดกระดานกาวให้เปลี่ยนเหยื่อใหม่ทุกครั้งที่เข้าทำบริการและควรเปลี่ยนชนิดของ เหยื่อล่ออยู่เสมอ
3. ตรวจสอบคุณภาพกาวดักหนูทุกครั้งที่เข้าทำบริการ และทำการเปลี่ยนใหม่ เมื่อไม่อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้
เช่น มีฝุ่น สิ่งสกปรกสะสม หรือมีซากแมลงหรือสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ มาติดอยู่ หมายเหตุ ภายในโรงงงานผลิตอาหาร
- ห้ามวางกระดานกาวภายในพื้นที่ผลิตอาหารภายในโรงงานผลิตอาหาร
- ภายในห้องเก็บวัตถุดิบ หรือห้องเก็บอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับอาหารภายในโรงงานผลิตอาหาร จะต้องวางกระดานกาว
ภายใน กล่องวางกระดานกาวและห้ามมิให้วางเหยื่อล่อทุกชนิดบนกระดานกาว